📌โรคกรดไหลย้อน VS โรคกระเพาะ ความเหมือนที่แตกต่าง
[ข้อมูลจากเพจ Mahidol Channel]
https://www.facebook.com/mahidolchannel/posts/5042691912454357
หากพูดถึงภาวะที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับทางเดินอาหาร คงหนีไม่พ้นโรคกรดไหลย้อน และโรคกระเพาะ ผู้ป่วยหลาย ๆ คนจึงมักจะสับสน และแยกความแตกต่างระหว่าง 2 โรคนี้ไม่ได้ หากการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง จะส่งผลถึงการรักษา และการดูแลตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งก็จะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร โพสต์นี้เราจะมาไขข้อข้องใจในประเด็นนี้ให้กับคุณ
📍ความแตกต่างของโรคกรดไหลย้อน VS โรคกระเพาะ
1) โรคกระเพาะ เกิดกับกระเพาะอาหาร ขณะที่โรคกรดไหลย้อนจะเกิดจากหลอดอาหาร
2) หลอดอาหาร เป็นส่วนที่อยู่ก่อนถึงกระเพาะอาหาร หากเป็นโรคกรดไหลย้อนก็จะเกิดอาการที่ช่องอกมากกว่า เพราะหลอดอาหารกับช่องอกจะอยู่ด้วยกัน ส่วนกระเพาะอาหารจะอยู่ในช่องท้อง
3) อาการที่เกิดขึ้นของโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น มีอาการหลังจากมื้ออาหารนั้น ๆ
4) อาการของโรคกรดไหลย้อนกับโรคกระเพาะอาจเกิดร่วมกันได้ คนที่มีกรดไหลย้อนก็อาจจะมีโอกาสเกิดปัญหาเรื่องกระเพาะอาหารมากกว่าคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องกรดไหลย้อน
📍โรคกรดไหลย้อน
อาการ
     – แสบร้อนในอกหรือลำคอ
     – อาจมีอาการปวดจุกหน้าอก คล้ายเป็นโรคหัวใจ
     – อาการปวดเกิดขึ้นหลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือไม่มีความสัมพันธ์กับมื้ออาหาร
     – อาจมีอาการแน่นหน้าอกคล้ายกับอาหารไม่ย่อย
ปัจจัยการเกิดโรค
     – ภาวะอ้วน
     – การกินอาหารมัน
ปัจจัยเสริมทำให้โรคกำเริบ
     – กินอาหารแล้วเข้านอนทันที
หลักการปรับพฤติกรรม
     – กินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่พอเหมาะ
     – หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก
     – หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
     – ไม่นอนราบหลังจากกินอาหารเสร็จใหม่ ๆ
     – ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
     – งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
——————————
📍โรคกระเพาะอาหาร
อาการ
     – แสบ ร้อน ปวด จุกลิ้นปี่ บริเวณกลางช่องท้องส่วนบนเหนือสะดือ
     – ส่วนใหญ่อาการเกิดขึ้นสัมพันธ์กับมื้ออาหาร
     – ปวดท้องก่อนและหลังอาหาร หรือปวดท้องขณะที่ท้องว่าง
ปัจจัยการเกิดโรค
     – การกินอาหารไม่ตรงเวลา
     – การสูบบุหรี่
     – การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
     – การกินยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด แก้ยอก หรือที่เรียกว่า ‘เอ็นเสด’ (NSAIDs)
ปัจจัยเสริมทำให้โรคกำเริบ
     – การกินอาหารไม่ตรงเวลา
     – กินอาหารอย่างรวดเร็ว
     – กินอาหารคราวละมาก ๆ
     – ความเครียด
หลักการปรับพฤติกรรม
     – กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
     – กินอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
     – หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
     – งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
     – ผ่อนคลายความเครียด กังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ
     – หากมีอาการของภาวะแทรกซ้อน ให้รีบพบแพทย์
ทั้ง 2 โรคถือว่ามีคนเข้าใจผิดค่อนข้างเยอะ เนื่องจากคำบรรยายอาการอาจดูใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้
โดยการรักษาด้วยการใช้ยา ทั้ง 2 โรคมีทั้งที่ใช้ยาบางชนิดแบบเดียวกัน บางชนิดอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของคนไข้ รวมถึงการดำเนินโรค และวิธีการปฏิบัติตัวที่แตกต่างกันเล็กน้อย
ผลการรักษาจะดีขึ้นได้ ต้องอาศัยการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย และแม้ว่าทั้ง 2 โรคจะแตกต่างกัน แต่ก็สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ในคน ๆ เดียวกัน การดำเนินชีวิตหลาย ๆ อย่างอาจช่วยให้อาการดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากแยกอาการได้ถูกตั้งแต่แรก ก็จะทำให้ผลการรักษาดีขึ้นได้
ข้อมูลโดย
ผศ.พญ.มณฑิรา มณีรัตนะพร
อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ชมคลิปเพิ่มเติม