3 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการแพ้ยา
ปัจจุบันเราใช้ยากันมากขึ้น การแพ้ยาจึงเป็นปัญหาที่เจอมากขึ้นในแต่ละวัน แต่ยังมีความเข้าใจที่หลากหลายและคลาดเคลื่อน ในขณะที่การแพ้ยาเป็นประเด็นสำคัญในแง่ความปลอดภัยของผู้ป่วย (Patient safety) บทความนี้จึงขอสรุป 3 ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแพ้ยา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนทั่วไป เภสัชกร และบุคลากรการแพทย์
.
1. เคยกินยา A ได้โดยไม่แพ้ แต่ต่อมากินยา A ซ้ำอีกครั้งแล้วมีผื่น “จึงสรุปว่าไม่ใช่การแพ้ยา A เพราะเคยกินยา A ได้มาก่อนในอดีต”
.
เป็นความเข้าใจผิดที่พบบ่อย เนื่องจากการประเมินว่าผู้ป่วยแพ้ยาชนิดใด คล้ายกับการประเมินผู้ต้องหาในชั้นศาล การที่ A เคยเป็นผู้บริสุทธิ์ในอดีต ไม่ได้การันตีว่า A จะไม่ใช่ผู้ร้ายในวันนี้
.
หากอธิบายด้วยกลไกทางภูมิคุ้มกัน การที่เคยกินยาชนิดหนึ่งได้มาก่อน แล้ววันดีคืนร้ายมาแพ้ ถือเป็น “เรื่องปกติ” เนื่องจากกลไกภูมิแพ้ในคนที่ไม่เคยแพ้มาก่อนนั้น เริ่มต้นจากขั้นตอนการรับรู้ภูมิแพ้ หรือ “Sensitization”
.
การเคยได้รับยาชนิดนั้นมาก่อนในอดีตแล้วรอบนี้มาแพ้จึงเป็นเหตุผลที่สนับสนุนทางภูมิคุ้มกันว่า “สามารถเป็นจากยา A ได้” เพราะ ผู้ป่วยน่าจะเกิด Sensitization จากการกินยา A ในอดีต จากนั้นร่างกายจะค่อยๆสร้างภูมิแพ้ต่อยา A ในเวลาต่อมา ดังนั้นเมื่อกินยา A ซ้ำในครั้งต่อไปจึงเกิดอาการแพ้
.
ในทางกลับกันยาบางชนิดผู้ป่วยอาจกินเป็นครั้งแรกแล้วเกิดอาการแพ้ก็ได้ซึ่งอาจเกิดจากกลไกพิเศษที่ไม่ผ่าน Sensitization หรืออาจเกิด Sensitization จากสารเคมีในชีวิตประจำวันในอาหาร ยา เวชสำอางที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับยา A ได้
—————————————————
2. กินยาสักชนิดเข้าไปแล้วมีผื่น คือ การแพ้ยา ?
ไม่เสมอไป ผื่นที่เกิดขึ้นหลังกินยาสักชนิดเข้าไปไม่จำเป็นต้องเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ยาเสมอไป เพราะ อาจเป็นผื่นที่ไม่เกี่ยวกับการแพ้ยาเลยก็ได้ เช่น ผื่นจากการติดเชื้อ ผื่นจากโรคประจำตัวเดิมกำเริบ สิวที่เกิดจากยา
.
การวินิจฉัยรอยโรคผื่นที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้สรุปว่าเกิดจากการแพ้ยามากเกินความเป็นจริง (Over-labeling) ซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาวต่อผู้ป่วย แนะนำให้รับการประเมินโดยแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนังหรือโรคภูมิแพ้
.
การประเมินแพ้ยา ควรพิจารณาจาก 2 องค์ประกอบร่วมกัน คือ
2.1 ลักษณะผื่นเข้าได้กับการแพ้ยา (Compatible lesion)
ผื่นที่เกิดจากการแพ้ยามีหลายรูปแบบ แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย คือ
• การแพ้แบบเฉียบพลัน (Immediate reaction) มีอาการเป็นผื่นลมพิษ ปาก/หนังตาบวม คันทั่วทั้งตัว ไปจนถึงการแพ้รุนแรง เช่น ไอ หอบ แน่นหน้าอก วูบเป็นลม หมดสติ
• การแพ้แบบล่าช้า (Non-immediate reaction) มีลักษณะหลากหลาย (เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นสีม่วงช้ำ ผื่นแดงที่มีขุยลอก ถุงน้ำ เยื่อบุตา/ปากอักเสบ ฯลฯ) ในขั้นตอนนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยลักษณะผื่นที่แม่นยำ
.
2.2 ระยะเวลาที่ผื่นขึ้นเข้าได้กับช่วงที่ได้ยา (Temporal relationship)
ระยะเวลาที่เกิดผื่นมักแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดปฏิกิริยาการแพ้ เช่น
• การแพ้แบบเฉียบพลัน (Immediate reaction) มักกินยาดังกล่าวเข้าไปแล้วเกิดอาการภายใน 1-6 ชม หลังเริ่มกินยาชนิดนั้นเข้าไป
• การแพ้แบบล่าช้า (Non-immediate reaction) มีความหลากหลายสูง มีระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 2 เดือนหลังเริ่มกินยาชนิดนั้นเข้าไป ระยะเวลามีความหลากหลายขึ้นกับชนิดปฏิกิริยาภูมิแพ้
—————————————————
3. บัตรแพ้ยา (ADR card) ยิ่งมีจำนวนยาเยอะ ยิ่งปลอดภัย ?
.
การบันทึกประวัติแพ้ยาช่วยให้เราปลอดภัย เพราะ ช่วยลดโอกาสเกิดการแพ้ยาซ้ำ แต่การติดประวัติแพ้ยาที่ “มากเกินความจำเป็นและไม่ได้รับการยืนยัน (Over-label)” อาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้ในระยะยาว
.
การติดประวัติแพ้ยา อาจเป็นภัยเงียบที่คาดไม่ถึง เพราะ ถึงคราวต้องใช้ยาจริง อาจไม่มียาเหลือให้ใช้ การบันทึกแพ้ยาในปัจจุบัน บางคนแพ้จริง บางคนแพ้ปลอม บางคนเคยแพ้แต่หายแล้ว ปัจจุบัน เราใช้ยากันมากขึ้น จึงพบผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยามากขึ้นซึ่งบางคนแพ้ยา > 1 ชนิด
.
การติดประวัติแพ้ยาหลายตัว หรือ แม้ว่าจะแพ้แค่ 1 ตัว แต่ดันเป็นยาสำคัญย่อม “ส่งผลเสีย” เพราะ ถึงคราวไม่สบาย ต้องใช้ยาจริง อาจไม่มียาดี เหลือให้ใช้ ตัวอย่างการแพ้ยาที่เจอบ่อยได้แก่ การแพ้ยากลุ่ม Penicillin, ยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), ยาชา (Local anesthesia), ยาดมสลบระหว่างทำหัตถการ (Perioperative hypersensitivity)
.
การยืนยันหรือทดสอบว่าผู้ป่วยยังแพ้ยาอยู่ หรือหายแพ้แล้วจึงจำเป็น
เพื่อยืนยันการวินิจฉัย (กรณียังแพ้อยู่) และเพื่อยืนยันว่าหายแพ้แล้ว
ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยลองกินเอง ควรได้รับการประเมินโดยแพทย์ด้านภูมิแพ้เป็นรายๆไป
—–
บทความโดย
ผศ.นพ.มงคล สมพรรัตนพันธ์
สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
[บทความจากเพจ Mahidol Channel]
Leave A Comment